พระไพรีพินาศ ผู้ใดปองร้ายจักพ่ายแพ้ภัยตนเอง

พระไพรีพินาศ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหารประดิษฐานอยู่ ณ เก๋งจีน บนชั้น 2 ด้านทิศเหนือของพระเจดีย์สีทององค์ใหญ่ เป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดย่อม หน้าตักกว้าง 33 ซม. สูง 53 ซม. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระวินิจฉัยใน “สาสน์สมเด็จ” ว่า “ พระไพรีพินาศ เป็นพระพุทธรูปแบบมหายาน ปางประทับนั่งประทานอภัย พระพุทธลักษณะเหมือนพระปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางอยู่บนพระชานุ”

พระพุทธรูปองค์นี้มีผู้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในช่วงนั้นมีผู้คิดปองร้ายพระองค์อยู่เสมอๆ เมื่อได้รับพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ผู้ที่คิดปองร้ายต่างมีอันเป็นไปต่างๆ นานาพ่ายแพ้ภัยตนเอง จึงโปรดให้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “ พระไพรีพินาศ ” โดยมีหลักฐานเป็นกระดาษซึ่งพบในพระไพรีพินาศเจดีย์ มีอักษรเขียนว่า “พระสถูปเจดียสิลาบัลลังองค์ จงมีนามว่า พระไพรีพินาศ เจดีย์ เทอญ” และอีกด้านเขียนว่า “เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ” หลักฐานดังกล่าวได้ค้นพบเมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 ระหว่างการซ่อมแซมพระเจดีย์ 96 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร

 

พระกริ่งไพรีพินาศ รุ่นแรก พ.ศ. 2495

พระกริ่งไพรีพินาศ รุ่นแรก พ.ศ. 2495 วัดบวรนิเวศวิหาร จัดสร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกและเป็น พระกริ่งไพรีพินาศ รุ่นแรกของประเทศไทย พระกริ่งไพรีพินาศ รุ่นแรกนี้มีพระพุทธคุณสูงมากในเรื่องการอำนวยความร่มเย็น เป็นสุขให้แก่ผู้บูชาและสะท้อนความมุ่งร้ายหมายอาฆาตพยาบาทของ ศัตรู(ไพรี)ให้พินาศพ่ายแพ้ไป องค์นี้เป็นเนื้อทองผสมที่แก่เนื้อทองคำ ทำให้ปรากฏคราบน้ำทองกระจายตามซอกตามมุมต่าง ๆ

ในปี พ.ศ.2495 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับบำเพ็ญกุศลฉลองพระชนมายุถวายเป็นพระราชกุศล และในปี พ.ศ.2496 ได้มีการประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมา ทีฆายุมหมงคล จัดสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลนามว่า “ พระไพรีพินาศ ” โดยจำลองพุทธลักษณะของพระไพรีพินาศเดิม มีทั้ง พระบูชา พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ เหรียญ ตลอดจนหม้อน้ำมนต์

พระกริ่งไพรีพินาศ ปี 2496 ใช้กรรมวิธีการสร้างตามแบบตำนานพระกริ่งที่ได้ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระ มหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และมีพุทธลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะคือ เนื้อโลหะที่สร้างเป็นเนื้อทองเหลืองที่มีลักษณะพิเศษ ถึงแม้จะผ่านเวลาเนิ่นนานสีสันยังคงเป็นสีเหลืองสดใสที่อมเขียวอย่างเจือจาง เล็กน้อย

กรรมวิธีการสร้างเป็นพุทธศิลปะการเทแบบโบราณ ไม่มีการแต่งผิวหรือแต่งองค์พระ และหล่อโบราณ โดยใช้ “ดินขี้วัว” อันเป็นสูตรสำคัญในการหล่อพระพุทธปฏิมามาแต่สมัยอดีตหลายร้อยปี ทำให้เกิดเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ที่ผิวขององค์พระจะปรากฏดินขี้วัวที่จับบนผิวพระไม่หนาเป็นปึก จะจับอยู่ในรูพรุนละเอียดทั้งองค์พระ และสีของดินขี้วัวจะเป็นสีเขียวอมดำเข้ม

พระกริ่งไพรีพินาศ ปี 2496 หลายท่านจะเล่นเป็น พระกริ่งไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร ปี 2495 จะมีขนาดเท่ากันทุกองค์ และจากการถอดหุ่นเทียนด้านข้างโดยรอบขององค์พระจะเป็น “ตะเข็บ” ซึ่งเกิดจากการประกบแม่พิมพ์ พุทธลักษณะ เม็ดพระศก

ด้านหน้าเป็นเม็ดกลมโต มี 9 เม็ด ที่พระเนตรจะมีเม็ดตาดำรูปกลมแบน ค่อนข้างนูนต่ำ พระหัตถ์ข้างขวาหงายขึ้น ฐานด้านหลังด้านล่างเป็นตัวหนังสือบุ๋ม “ไพรีพินาศ” ซึ่งติดคมชัด มีตำหนิที่ก้นของ พระกริ่งไพรีพินาศ เป็นรอยตะไบและรอยเสี้ยน อันเกิดจากร่องรอยของการตะไบให้เรียบหลังจากการอุดก้นหลังใส่เม็ดพระกริ่งลง ไป อันนับเป็นตำหนิสำคัญของการดูพระแท้ทีเดียว และสัณฐานขององค์พระด้านขวาจะยกสูงส่วนด้านซ้ายจะทรุดต่ำเล็กน้อย

การจัดสร้าง พระกริ่งไพรีพินาศ ปี 2496 แบ่งเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ฐานบัวเหลี่ยม และพิมพ์ฐานบัวแหลม ซึ่งต่างกันตรงฐานบัว ตามชื่อของพิมพ์ คือ บัวเหลี่ยมและบัวแหลม นอกจากนี้ เกสรบัวของพิมพ์บัวแหลมจะค่อนข้างชัดกว่า และอีกประการคือ เม็ดพระศกด้านหลังของพิมพ์บัวเหลี่ยมจะเป็นเม็ดกลมโตเหมือนด้านหน้า แต่พิมพ์บัวแหลมจะไม่ติดเป็นเม็ดกลม

ข้อมูลจาก : www.komchadluek.net